free html templates

สถิติ rating scale

    การสร้างเครื่องเก็บรวบรวมข้อมูลแบบประมาณค่า
 มาตรประมาณค่า เป็นเครื่องมือที่ใช้มากในงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ ซึ่งได้มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือ หาข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีการสร้างเครื่องมือประเภทนี้ให้มีคุณภาพ หลายลักษณะ เป็นสิ่งที่นักวิจัยควรรู้ ก่อนตัดสินใจสร้างเครื่องมือประเภทนี้
 ในการเสนอมาตรวัดด้วยคำถามแบบมาตรประมาณค่า (Rating Scale) เป็นระบบตัวเลข(มาตร) ที่นิยมใช้กันมากรายการหนึ่งในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะนำมาพัฒนาเป็นแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบวัดเจตคติ/แบบวัดคุณลักษณะต่างๆ ซึ่งควรให้ความสำคัญการพัฒนาเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้เทคนิคมาตรประมาณค่า ซึ่งเป็นข้อสรุปประเด็นหลักดังนี้
 
1. มาตรประมาณค่า เป็นมาตรในระดับ “อันดับ”(Ordinal Scale) ในการเลือกใช้วิธีการทางสถิติ หรือการแปลผลการวิจัยจะต้องระมัดระวัง

2. การพัฒนามาตรประมาณค่าเพื่อใช้ในการวัดเจตคติ ทัศนคติ และความคิดเห็นประเภทที่ใช้ข้อความเป็นสิ่งเร้า แล้วให้ผู้ตอบแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยกับข้อความนั้นๆ มากน้อยเพียงใดซึ่งมีทั้งข้อความเชิงบวก(ให้คะแนนแบบ 5 4 3 2 และ 1 ในกรณีที่ผู้ตอบเห็นด้วยมากที่สุด จนถึง เห็นด้วยน้อยที่สุด) และ ให้คะแนนแบบกลับทิศ( 1 2 3 4 และ 5 )ในกรณีที่เป็นข้อความเชิงลบ....คำถามที่มักจะถูกถามคือ ในแบบประเมินฉบับนั้น ๆ ควรมีข้อความเชิงลบสักกี่ข้อ หรือกี่เปอร์เซ็นต์ ของข้อความทั้งหมด....ตำตอบ คือ มีผู้วิจัยแล้ว โดยทดลองบรรจุข้อคำถามเชิงลบไว้ 10 20 30 40 60 และ 60 %...ผลการวิจัย พบว่า “มีคุณภาพในด้าน “ความเที่ยง(Reliability) ไม่แตกต่างกัน” แต่ผู้วิจัยได้สรุปอย่างชัดเจนว่า “ควรมีข้อความเชิงลบคละไว้ส่วนหนึ่ง” และในการแปลผล จะต้องเน้นการแปลผลคะแนนรวม มากกว่าการแปลผลเป็นรายข้อ

 3. จำนวนช่อง/จำนวนระดับของมาตร เช่น มี 5 ช่อง คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย น้อยที่สุด(อาจจะเปลี่ยนคำคุณศัพท์เป็นอย่างอื่น) หรือจะทำเป็น 6 ช่อง มากที่สุด มาก ค่อนข้างมาก ค่อนข้างน้อย น้อย น้อยที่สุด หรือ 7 ช่อง/ระดับ หรือ 4 ช่อง หรือ 3 ช่อง....จำนวนระดับมาตร/ช่องระดับการประเมินเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมที่สุด “ช่องจำนวนคู่ คือ 4 หรือ 6” หรือ “ช่องจำนวนคี่ 3 5 หรือ 7 ช่อง”....อย่างใดเหมาะสมมากกว่ากัน....ผลการวิจัย ยืนยันว่า จำนวนช่องที่เป็นคู่(4 หรือ 6) มีแนวโน้มให้ค่าความเที่ยงมากกว่า จำนวนช่องเลข คี่ ...แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
 
4. การกำหนดสัญลักษณ์ หรือให้ความหมายระดับมาตร 5=มากที่สุด 4 = มาก 3= ปานกลาง 2= น้อย 1= น้อยที่สุด หรือจะ กลับเลขเป็น 1= มากเป็นอันดับหนึ่งหรือมากที่สุด จนถึง 5= มากเป็นอันดับที่ 5(หรือน้อยที่สุด) หรือ ให้สัญลักษณ์เป็น ก ข ค ง และ จ แทนมากที่สุด ถึง น้อยที่สุด หรือ การใช้คำคุณศัพท์ประเภท Bipolar ( 2 ขั้ว เช่น ชัดเจน----------คลุมเครือ, มาก----------น้อย, ดี----------เลว) จัดทำเป็นมาตรประมาณค่าแบบ กราฟิก (Graphic Rating Scale)......ผลการวิจัย พบว่า มาตรแบบกราฟิก มีแนวโน้มให้ค่าความเที่ยงสูงสุด สำหรับการกำหนดแบบอื่น ๆ ไม่แตกต่างกันในกรณีที่ปรับเป็นมาตรประมาณค่าเชิงพฤติกรรม(Behaviorally-Anchored Rating Rating Scale) ก็จะให้ค่าความเที่ยง และความตรงมากขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

 5. จำนวนข้อคำถามแต่ละประเด็นต้องมากเพียงพอต่อการวัด พร้อมทั้งควรมีมิติการวัดอย่างครบถ้วนทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

ในการสร้างเครื่องมือประเภทมาตรประมาณค่า ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ อีกหลายประการ ที่ผู้พัฒนาเครื่องมือ ควรศึกษาธรรมชาติของเครื่องมือประเภทนี้ให้ดี ก่อนการสร้างเครื่องมือในงานวิจัยของตนเอง เพื่อให้ได้เครื่องมือที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง
(ที่มา: บทความของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุพักตร์ พิบูลย์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มสธ.http://gotoknow.org เข้าถึงข้อมูลวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561)

ที่อยู่

44/3 ถ.จันทคามวิถี ต.ตลาด อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี 22000

ติดต่อ

โทรศัพท์:039-311198,039-321878 โทรสาร: 039-311699
อีเมล์:Chanthaburi01@gmail.com